ทีมนักวิจัย ม.อุบลฯ ลงพื้นที่ชุมชนจัดกิจกรรม?ตุ้มโฮมเกี่ยวข้าวนาในบ่อ? โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอุบลราชธานี
ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่ชุมชนติดตามผลการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ เป็นผู้บริหารโครงการฯ ดำเนินการเพื่อค้นหาสอบทาน และสำรวจข้อมูลครัวเรือนยากจน ตลอดจนการพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนที่สอดคล้องกับบริบท รวมถึงจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำต่อไป ทั้งนี้โครงการวิจัยฯ ได้จัดกิจกรรม “ตุ้มโฮมเกี่ยวข้าวนาบ่อ” และการเสวนาเรื่อง “นาบ่อ : ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและการแก้จนของคนนาดี” โดยมี นายรัฐพงศ์ รุ่งธนศักดิ์ นายอำเภอดอนมดแดง พร้อมด้วยตัวแทนส่วนราชการและหัวหน้าชุมชน ร่วมเสวนา และเยี่ยมชมพร้อมเกี่ยวข้าวนาในบ่อในแปลง นายสมาน มูลคำ ณ บ้านนาดี ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ กล่าวว่าโครงการวิจัย “การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอุบลราชธานี”เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อดำเนินโครงการวิจัย “การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอุบลราชธานี” โดยโครงการได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งมีทั้งการสำรวจ การค้นหา สอบทานครัวเรือนยากจนในจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการในพื้นที่ โดยในระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการนำร่อง “นาดี นาในบ่อเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” และได้มีกิจกรรมการปลูกข้าวในบ่อปูน โดยมีครัวเรือนเป้าหมายจากการการสำรวจและค้นหาเป็นครัวเรือนนำร่องในการรุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเอง โดยในกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการเกี่ยวข้าวจากการทำนาในบ่อ และการเสวนาในลักษณะ poverty forum เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครัวเรือนเป้าหมาย และแสวงหาแนวทางในการขับเคลื่อนงานในอนาคต
ในส่วนของกิจกรรม “ตุ้มโฮมเกี่ยวข้าวนาบ่อ” และการเสวนา “นาบ่อ : ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการแก้จนของคนนาดี” ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็น ศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการของชุมชนทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันออกแบบนวัตกรรม “นาดี นาในบ่อเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดอุบลราชธานี สามารถนำไปสู่การเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำต่อไป